ประวัติ ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า เข้ม สกุล ธนสังข์[1] เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2396 ตรงกับแรม 7 ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู จ.ศ. 1215 ภูมิลำเนาอยู่บ้านตำบลโรงช้าง จังหวัดพิจิตร เมื่ออายุได้ 10 ขวบได้ศึกษากับพระอาจารย์พุ่ม วัดนครชุม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร จนอายุ 15 ปี จึงมาบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ในสำนักพระญาณสมโพธิ (อ่ำ) ขณะยังเป็นพระอันดับ แล้วศึกษาต่อในสำนักหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ปั้น) พระเมธาธิบดี (จั่น) และพระปริยัติธรรมธาดา (ชัง)[2]

ปีกุน พ.ศ. 2418 ได้อุปสมบทที่วัดรังษีสุทธาวาส (ต่อมายุบรวมกับวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร) โดยมีพระปัญญาพิศาลเถร (บัว) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระโพธิวงศาจารย์ (วิญญู) และพระปลัดศรี เป็นคู่กรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า ธมฺมสโร บวชแล้วย้ายกลับมาอยู่วัดมหาธาตุฯ ถึงปีชวด พ.ศ. 2419 ท่านเข้าสอบพระปริยัติธรรมครั้งแรกที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เปรียญธรรม 4 ประโยค สอบครั้งที่สองในปีมะเมีย พ.ศ. 2425 ที่สนามสอบเดิม สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และสอบครั้งสุดท้ายในปีจอ พ.ศ. 2429 ได้เปรียญธรรม 6 ประโยค[2] วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2430 จึงได้รับพระราชทานผ้าไตรแพร ย่ามโหมดเทศ และพัดพื้นแพรเหลืองปักเลื่อม ในการตั้งเปรียญ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท[3]

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 ได้รับโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลชุมพร[4] ในวันนั้นท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม[5]

วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์ท่านและให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ โดยในช่วงบ่ายวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 โปรดให้จัดขบวนรถยนต์หลวงไปรับท่านและคณะรวม 11 รูปมาวัดพระเชตุพนฯ เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาพระราชทานเครื่องขึ้นกุฏิ บริขาร และปัจจุยมูลค่า 400 บาท เวลาทุ่มเศษจึงเสด็จฯ กลับพระราชวังดุสิต[6]

วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2453 โปรดให้สถาปนาเป็นเจ้าคณะมณฑลพิศณุโลก ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต[7] จนถึงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2464 จึงโปรดให้เลื่อนเป็นเจ้าคณะรองอรัญวาสี[8]

วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ท่านได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 2[9] ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 1[10]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โสม ฉนฺโน)

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) http://www.watpho.com/habbot.php http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2432/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2442/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2445/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2445/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2445/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2452/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2452/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/D/...